พระวจนะกล่าวว่า “ท่านจงมีใจกตัญญู” โคโลสี 3.15 เราจะสังเกตว่า ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยบันทึกคำว่า “กตัญญู” น้อยมาก แต่คนทั่วไปส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า ความกตัญญูเป็นคุณธรรมขั้นสูงในสังคม ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดพระคัมภีร์จึงไม่ปรากฏคำนี้บ่อยครั้งนัก
แท้จริงแล้ว “ความกตัญญู” ถูกกล่าวในพระวจนะบ่อยๆ แต่มักถูกบันทึกในรูปของคำอื่น เช่น ขอบพระคุณ, ถวาย, นมัสการ ฯลฯ เนื่องจากบุคคลผู้มี “จิตกตัญญู” จะกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการแสดงออกถึง “ความกตัญญู” ที่เขามี
ในพระธรรมลูกากล่าวว่า “ฝ่ายคนหนึ่งในพวกนั้น เมื่อเห็นว่าตัวหายโรคแล้ว จึงกลับมาสรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดัง
และกราบลงที่พระบาทของพระเยซู โมทนาพระคุณของพระองค์ คนนั้นเป็นชาวสะมาเรีย ฝ่ายพระเยซูตรัสว่า “มีสิบคนหายสะอาดมิใช่หรือ แต่เก้าคนนั้นอยู่ที่ไหน (ลก. 17:15-17)
ความกตัญญูที่แท้จริงถูกแสดงออกเป็นการกระทำ เช่นในพระธรรมตอนนี้ ชายที่หายโรคแสดงจิตกตัญญูโดยเขาได้กลับมา “สรรเสริญ”, “กราบ”, “โมทนาพระคุณ” พระเจ้า หรือเราอาจกล่าวได้ว่า “ความกตัญญู” ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ในรูปคำนาม (Noun) แต่อยู่ในรูปกริยา (Verb) ผู้ที่มีจิตกตัญญูต้องกระทำบางสิ่งเพื่อให้เราสามารถเห็นได้ เราจึงถือว่าผู้นั้นมีความกตัญญู พระวจนะได้กล่าวอีกว่า “ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ประพฤติตามก็ไร้ผล” (ยากอบ 2.17) เช่นเดียวกัน จิตกตัญญูที่ปราศจากการแสดงออกก็เป็น “ความกตัญญู” ที่ตายแล้วและไร้ผลด้วย
มีคนกล่าวว่า “มีบางคนไม่ได้ตื่นขึ้นมาในเช้าวันนี้ แต่คุณได้ตื่นขึ้น นั่นเป็นเหตุผลมากเกินพอที่เราจะหยุดบ่น และเป็นเหตุให้เราขอบพระคุณ อย่าปล่อยให้ปัญหาของคุณบดบังพระพรที่คุณจะได้รับจากพระเจ้าในวันนี้”
ขอให้เราขอบพระคุณเสมอ และทำบางสิ่งบางอย่างเป็นการกระทำแสดงออกถึง “จิตกตัญญู” ต่อพระเจ้า และต่อคนรอบข้างที่เราได้รับพระพร แม้ว่าเราอาจยังไม่ได้กระทำบางอย่างในวันนี้ แต่เราสามารถ “รอวันเวลา” และแสดงออกในเวลาอันเหมาะสม ขอพระพรมากมายเป็นของบุคคลผู้มี “จิตกตัญญู”